By Dr. Theeravuth Temsiriwattanakul
- Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting (BEPS)
ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 98 ของ Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting (BEPS) เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 กรอบความร่วมมือ BEPS เป็นกลไกที่ OECD กำหนดให้ประเทศสมาชิกเข้าร่วมกันกำหนดทิศทางและวิธีการในการนำมาตรการเพื่อป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำจำนวน 15 ปฏิบัติการ มาปรับใช้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยรัฐสมาชิกจะต้องดำเนินการอย่างน้อยให้ได้มาตรฐานขั้นต่ำ 4 ปฏิบัติการได้แก่
(1) ปฏิบัติการที่ 5 การขจัดมาตรการภาษีที่เป็นภัยต่อประเทศอื่น (Counter Harmful Tax practices) – โดยปัจจุบันประเทศไทยได้รับสถานะ No Harmful regime เรียบร้อยแล้ว ด้วยการยกเลิก IHQ ROH IBF ITC และเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ใน IBC ให้เป็นไปตามที่ OECD แนะนำ
(2) ปฏิบัติการที่ 6 มาตรการป้องกันการใช้ประโยชน์จากอนุสัญญาภาษีซ้อนผิดวัตถุประสงค์ (Preventing the Granting of Treaty Benefits inappropriate circumstances) – ประเทศไทยดำเนินการตามปฏิบัติการนี้ด้วยการทำความตกลง MLI
(3) ปฏิบัติการที่ 13 การรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Reporting) รวมถึงเอกสารการกำหนดราคาโอน (Transfer Pricing Documentation) ปัจจุบันประเทศไทยได้ทำความตกลง MAC, MCAA CRS, MCAA CbCR รวมถึงการแก้ไขกฎหมายภายในเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลแล้
(4) ปฏิบัติการที่ 14 แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพวิธีการดำเนินการเพื่อความตกลงร่วมกัน หรือ Mutual Agreement Procedure (MAP) (Making Resolution Mechanism More Effective) ) ประเทศไทยดำเนินการตามปฏิบัติการนี้ด้วยการทำความตกลง MLI
- อนุสัญญาพหุภาคีเพื่อดำเนินมาตรการต่างๆ ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน เพื่อป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและโอนกำไรไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Multilateral Convention to Implement Tax Treaty Related Measures to Prevent Base Erosion and Profit Shifting: MLI)
สืบเนื่องจากการที่ประเทศต่างๆ ได้เข้าเป็นสมาชิก BEPS และมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำ จะต้องทำการแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำหรือข้อบทในอนุสัญญาภาษีซ้อนจำนวนมากซึ่งจะใช้เวลานาน ดังนั้น OECD จึงเสนอทางเลือกในปฏิบัติการที่ 15 ที่จะช่วยให้การดำเนินการเป็นไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยให้รัฐสมาชิกเข้าทำอนุสัญญาพหุภาคีร่วมกันเพียงฉบับเดียวเพื่อมีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมอนุสัญญาภาษีซ้อนทั้งหลายของตน ที่เรียกกันว่า อนุสัญญา MLI
ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีความตกลง MLI เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 โดยเนื้อหาสาระของอนุสัญญาพหุภาคี MLI แบ่งออกเป็น 7 ส่วน ทั้งหมด 39 ข้อบท โดยสังเขปดังนี้
ส่วนที่ 1 scope and Interpretation of terms (ข้อบทที่ 2)
ส่วนที่ 2 Hybrid Mismatches (ข้อบทที่ 3-5)
ส่วนที่ 3 Treaty Abuse (ข้อบทที่ 6-11)
ส่วนที่ 4 Avoidance of Permanent Establishment Status (ข้อบทที่ 12- 15)
ส่วนที่ 5 Improving Dispute Resolution (ข้อบทที่ 16-17)
ส่วนที่ 6 Arbitration (ข้อบทที่ 18-26)
ส่วนที่ 7 Final Provision (ข้อบทที่ 27-39)
ตามอนุสัญญา MLI นั้น รัฐภาคีสามารถกำหนดท่าทีและเลือกได้ว่าจะนำข้อบทใดมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศตนได้ และยังสามารถทำข้อสงวนในแต่ละข้อบทได้อีกด้วย
- ท่าทีของประเทศไทยในการนำข้อบทในอนุสัญญา MLI มาปรับใช้
ประเทศไทยกำหนดท่าทีในการเลือกนำข้อบทต่างๆ ในอนุสัญญา MLI มาปรับใช้กับภาษีซ้อนที่ประเทศไทยทำไว้ โดยในเบื้องต้น ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีอนุสัญญาภาษีซ้อนที่จะถูกอนุสัญญา MLI แก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 43 ฉบับ (จากทั้งหมด 61 ฉบับ) และประเทศไทยได้เลือก 9 ข้อบทในอนุสัญญา MLI มาปรับใช้ โดยแบ่งได้ดังนี้ (โปรดดูข้อมูลท่าทีของประเทศไทยต่อ MLI ใน https://www.rd.go.th/63796.html)
- ส่วนที่เป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของ BEPS
(1) ส่วนที่ 3 Treaty Abuse เฉพาะข้อบทที่ 6 และข้อ 7 ของอนุสัญญา MLI ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่ 6 ของ BEPS
– ข้อบทที่ 6 เป็นกรณีการแก้ไขอารัมภบทของอนุสัญญาภาษีซ้อนเพื่อป้องกันการใช้อนุสัญญาภาษีซ้อนผิดวัตถุประสงค์
– ข้อบทที่ 7 เป็นกรณีนำหลัก Principle Purpose Test มาปรับใช้กับอนุสัญญาภาษีซ้อน
(2) ส่วนที่ 5 Improving Dispute Resolution Abuse ข้อบทที่ 16 และข้อ 17 ของอนุสัญญา MLI ซึ่งเป็นการตามปฏิบัติการที่ 14 ของ BEPS
– ข้อบทที่ 16 เป็นกรณีการปรับปรุงถ้อยคำในอนุสัญญาภาษีซ้อนข้อ 25 ทำให้เกิดการทำความตกลงร่วมกัน (Mutual Agreement Procedure) ให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
– ข้อบททที่ 17 เป็นกรณีการปรับปรุงถ้อยคำ Associated Enterprise (วิสาหกิจในเครือเดียวกัน) ให้สามารถใช้ปรับปรุงราคาโอนระหว่างบริษัทในเครือเดียวกัน (Corresponding Adjustment) มีประสิทธิภาพใช้ได้จริงมากขึ้น
- ส่วนที่เป็นการปฏิบัติตามมาตรการทางเลือกของ BEPS
(1) ส่วนที่ 2 Hybrid Mismatches เฉพาะข้อบทที่ 5 ของอนุสัญญา MLI ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่ 2 ของ BEPS คือ Neutralizing the Effects of Hybrid Mismatch Arrangement
– ข้อบทที่ 5 เป็นการปรับปรุงข้อบท 23 ของอนุสัญญาภาษีซ้อนเกี่ยวกับวิธีการขจัดภาษีซ้อน โดยกำหนดให้ใช้วิธีเครดิตภาษีแทนวิธียกเว้นภาษี เพื่อป้องกันการไม่เก็บภาษีทั้งสองรัฐ (Double Non-Taxation)
(2) ส่วนที่ 4 Avoidance of Permanent Establishment Status (ข้อบทที่ 12- 15) ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามปฏิบัติการที่ 7 Preventing the Artificial Avoidance of PE Status ของ BEPS
– ข้อบทที่ 12 เป็นกรณีการแก้ไขถ้อยคำในข้อ 5 ของอนุสัญญาภาษีซ้อน เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีด้วยการหลบหลีกการมีสถานประกอบการถาวร(Permanent Establishment (PE)) จากการดำเนินธุรกรรมผ่านนายหน้าและกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน
– ข้อบทที่ 13 เป็นการกำหนดให้เฉพาะกิจกรรมที่เป็นการเตรียมการ (Preparatory) หรือเป็นส่วนประกอบ ( Auxiliary) เท่านั้น จึงจะเข้าข้อยกเว้นของ PE และการนำหลักการป้องกันการแตกหน้าที่งาน (Anti-fragmentation Rule) มาปรับใช้
– ข้อบทที่ 14 เป็นการนำหลักการป้องกันการแตกสัญญา (Splitting-up Contract) ให้มีระยะเวลาสั้นๆ เพื่อหลบเลี่ยงการเกิด PE มาปรับใช้ในอนุสัญญาภาษีซ้อน
– ข้อบทที่ 15 เป็นการกำหนดนิยามของบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Definition of a Person Closely Related to the Enterprise) ในข้อบท PE ให้ครอบคลุมบริษัทในเครือเดียวกันเพื่อป้องกันการเลี่ยง PE