Publications

Let our experience be your guide

Publications

Let our experience be your guide

Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes (Global Forum) And Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters

By Dr. Theeravuth Temsiriwattanakul

ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes (Global Forum) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 เพื่อส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) และเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่พร้อมจะร่วมมือกับ OECD ในการป้องกันการหลบหลีกหรือหลีกเลี่ยงภาษีและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีเป็นไปตามมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใส ในการบริหารจัดเก็บภาษีของประเทศ  โดยการเข้าเป็นสมาชิกก่อให้เกิดความร่วมมืออย่างน้อย 2 ประการที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินการในฐานะสมาชิก ได้แก่

– การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอ (Exchange of Information on Request : EOIR)  โดยปัจจุบันประเทศไทยเข้ารับการประเมิน (Peer Review) ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2565 เรียบร้อยแล้ว

– การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติ (Automatic Exchange of Information :AEOI)  โดยข้อมูลที่จะแลกเปลี่ยนแบบอัตโนมัติจะถูกเรียกว่า Common Reporting Standard (CRS)

เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประเทศไทยจึงได้เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี (Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564  และต่อมาได้ทำความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเพื่อให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพในทางปฏิบัติอีก 2 ฉบับดังนี้

ภาคีความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ (Multilateral Competent Authority Agreement on Automatic Exchange of Information: MCAA CRS) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565

ภาคีความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลรายประเทศแบบอัตโนมัติ (Multilateral Competent Authority Agreement on the Exchange of Country-by-Country Reports: MCAA CbCR) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2565

ต่อมากระทรวงการคลังและกรมสรรพากรจึงผลักดันให้เกิดกฎหมายอนุวัติการนำพันธกรณีทั้งหลายในความตกลงมาบัญญัติเป็นกฎหมายภายในดังนี้  (โปรดดู https://www.rd.go.th/63929.html)

(1) พระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ.2566

(2) กฎกระทรวงกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566

(3) ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดรายชื่อรัฐหรือภาคีซึ่งเป็นคู่สัญญาตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ

(4) ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงานตามพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566

(5) ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดผู้ที่ไม่ต้องถูกรายงานตามพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566

(6) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และรูปแบบการส่งข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ ตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ

นอกจากการใช้กฎหมายอนุวัติการดังกล่าวแล้ว   กรมสรรพากรเองยังใช้อำนาจตามมาตรา 10 ตรี และมาตรา 17 วรรคสาม (2) แห่งประมวลรัษฎากร ออกกฎหมายลำดับรองมาปรับใช้เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีเงินได้ระหว่างประเทศ ได้แก่

(1) ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา 10 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564

(2) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 408) เรื่อง กำหนดให้ผู้ยื่นรายการแจ้งข้อความตามรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Reports) ลงวันที่ 30 กันยายน 2564 และฉบับที่ 419 ลงวันที่ 12 มกราคม 2565

Scroll To Top