News

Let our experience be your guide

News

Let our experience be your guide

หลักเกณฑ์การนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่มทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคาร (e-withholding Tax & VAT)

กฎกระทรวง ฉบับที่ 364 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการนำส่งภาษี ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกรณีผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีเลือกใช้วิธีการนำส่งภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางธนาคารตาม มาตรา 3 ปัณรส แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งสามารถสรุปดังนี้

ก.         ธนาคารจะต้องยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด

ข.         ภาษีที่ธนาคารสามารถนำส่งแทนผู้จ่ายเงินได้ คือ

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ทุกรายการทั้งกรณีการจ่ายให้กับบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้อยู่ในประเทศและต่างประเทศ
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ประเภทต่างๆ อาทิ ค่าว่าจ้างทำของ ค่าสิทธิ ดอกเบี้ย/เงินปันผล/กำไรจากการขายหุ้นหรือตราสารหนี้/เงินลดทุน/ผลประโยชน์จากการควบโอนกิจการ ค่าเช่า และเงินได้ค่าวิชาชีพอิสระ ที่จ่ายให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศที่ไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย และการจำหน่ายเงินกำไรให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศ
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ทอดตลาดซึ่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องนำส่ง และ
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการมีหน้าที่นำส่งต่อกรมสรรพากร กรณีผู้ประกอบการต่างประเทศเข้ามาขายสินค้าหรือให้บริการโดยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือให้บริการในต่างประเทศแต่มีการใช้บริการในประเทศไทย

ค.         เมื่อธนาคารได้รับเงินจากผู้มีหน้าที่นำส่งภาษี จะต้องออกหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์แสดงการรับชำระเงินให้ผู้มีหน้าที่นำส่ง โดยจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่วางโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรต่อไป

ง.          ธนาคารต้องนำเงินภาษีส่งกรมสรรพากรภายในกำหนดเวลาที่ตกลงไว้กับกรมสรรพากรแต่ต้องไม่เกิน 4 วันทำการนับถัดจากวันที่ธนาคารได้รับเงินค่าภาษีและรายการจากผู้มีหน้าที่นำส่งภาษี

จ.         เมื่อกรมสรรพากรได้รับเงินจากธนาคารจะออกใบเสร็จรับเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีจึงถือว่าเป็นการเสียภาษีอากรที่สมบูรณ์

Scroll To Top