ในวันที่ 20 มิถุนายน 2563 รัฐบาลได้ออก พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 705) พ.ศ. 2563 เพื่อกำหนดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ในส่วนของดอกเบี้ยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และดอกเบี้ยพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จ่ายให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ทั้งนี้ ปกติเงินได้ดังกล่าวจะถือเป็นเงินได้ตาม มาตรา 40 (4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากรที่ต้องถูกหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 เพื่อนำส่งต่อกรมสรรพากรตาม มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
พระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่นี้มีผลยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 17/2561 ที่ประกาศไว้เมื่อ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 และยกเว้นภาษีกรณีเดียวกัน เพื่อให้การยกเว้นภาษีดังกล่าวเป็นมาตรการระยะยาวโดยรวมเข้าเป็นบทบัญญัติ มาตรา 5 ปัญจวีสติ ของพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) ซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อรวบรวมกรณีการยกเว้นและลดภาษีตาม มาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร
อนึ่ง พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 705) ยกเว้นเฉพาะในส่วนของดอกเบี้ยเท่านั้น ไม่ได้ยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ในลักษณะอื่นๆ ที่อาจเกิดจากการเป็นผู้ถือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายพันธบัตร หรือกำไรที่ได้จากการโอนพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ดังเช่นที่เคยมีการยกเว้นภายใต้ มาตรา 5 อัฏฐ แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) ในช่วงยุค 17 เมษายน 2528 ถึง 13 ตุลาคม 2553 แต่อย่างใด นอกจากนี้ ดอกเบี้ยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และดอกเบี้ยพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จ่ายให้กับบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่ผู้อยู่ในประเทศไทย (อยู่ประเทศไทยเป็นระยะเวลาทั้งหมดรวมกันไม่ถึง 180 วันในปีปฏิทินนั้นๆ) จะต้องถูกหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามปกติ