By Dr. Theeravuth Temsiriwattanakul
นับตั้งแต่สหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎหมาย Foreign Account Tax Compliance Act (FATCA) เพื่อป้องกันบุคคลสัญชาติอเมริกันหลีกเลี่ยงภาษี โดยกำหนดให้สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ที่อยู่นอกสหรัฐฯ ทุกแห่งทั่วโลก เข้าทำข้อตกลงกับกรมสรรพากรแห่งสหรัฐอเมริกา (Internal Revenue Service) และรายงานข้อมูลบัญชีและธุรกรรมทางการเงิน (US Account) ของลูกค้าที่มีสัญชาติอเมริกัน รวมถึงลูกค้านิติบุคคลที่ไม่มีสัญชาติอเมริกัน แต่มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวอเมริกัน (US-Owned Foreign Entity) ไปยังหน่วยงานสรรพากรของสหรัฐฯ (Internal Revenue Service : IRS) หากสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ไม่ให้ความร่วมมือ ก็อาจถูกมาตรการลงโทษต่างๆตามกฎเกณฑ์ FATCA ได้ ซึ่งรัฐบาลไทยได้เข้าทำความตกลงกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2559 และต่อมาได้ออกกฎหมายอนุวัติการดังกล่าวในชื่อ พระราชบัญญัติการปฏิบัติการตามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อความร่วมมือในการปรับปรุงการปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศ พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 โดยประเทศไทยได้เริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสหรัฐอเมริกาแล้วในปี 2567 นี้ และได้ออกกฎหมายลำดับรองมาใช้บังคับ (ณ กรกฎาคม 2567) ได้แก่
(1) พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับประเภท ลักษณะ ขนาด การให้บริการ หรือธุรกรรมของผู้มีหน้าที่รายงาน พ.ศ. 2564
(2) กฎกระทรวงการรวบรวมและนำส่งข้อมูลที่ต้องรายงานให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ พ.ศ. 2566
(3) กฎกระทรวง การขอและการออกหนังสือรับรองสถานะการเป็นผู้มีหน้าที่รายงาน พ.ศ. 2566
(4) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการส่งข้อมูลผ่านระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่จัดทำขึ้นระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อนำส่งข้อมูลที่ต้องรายงาน (International Data Exchange Service)
(5) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดแบบ สำหรับคำขอและหนังสือรับรองสถานะการเป็นผู้มีหน้าที่รายงานตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติการตามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อความร่วมมือในการปรับปรุงการปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศ พ.ศ. 2560