เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 19.7 ของ GDP (ตามรายงาน “Thailand 2020 Annual Research: Key Highlights” ของ World Travel & Tourism Council) และได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รัฐบาลได้ออกแพ๊กเกจต่างๆ เช่น แพ๊กเกจ “กำลังใจ” สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ แพ๊กเกจ “เราไปเที่ยวด้วยกัน” และ “เที่ยวปันสุข” สำหรับประชาชนทั่วไปที่รัฐบาลจะช่วยค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าที่พักโรงแรม ค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าอาหารในรูปแบบต่างๆ ตามเงื่อนไข โดยในส่วนของสิทธิประโยชน์ในทางภาษีเพื่อช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวนั้น รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 697) พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563 เพื่อให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนเท่ากับ 100% ของ ค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง ที่ได้จ่ายให้กับผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคลยังคงสามารถหักรายจ่ายดังกล่าวในการคำนวณกำไรสุทธิได้ตามปกติ
อนึ่ง ในอดีตได้เคยมีการออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้สิทธิประโยชน์ในทำนองเดียวกันต่อบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคลที่ได้จัดการสัมมนาให้กับลูกจ้างเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศเป็นครั้งคราว ตัวอย่างเช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดรองในช่วงปี พ.ศ. 2561 ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 656) และสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2558 ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 611) และ (ฉบับที่ 580) ตามลำดับ และในขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาในส่วนของมาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจประชาชนให้ออกมาบริโภคเพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 697) ได้มีการตีพิมพ์ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ วันที่ 22 มิถุนายน 2563 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2563