By Dr. Theeravuth Temsiriwattanakul
ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes (Global Forum) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 เพื่อส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในกรอบความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) และเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่พร้อมจะร่วมมือกับ OECD ในการป้องกันการหลบหลีกหรือหลีกเลี่ยงภาษีและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีเป็นไปตามมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใส ในการบริหารจัดเก็บภาษีของประเทศ โดยการเข้าเป็นสมาชิกก่อให้เกิดความร่วมมืออย่างน้อย 2 ประการที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินการในฐานะสมาชิก ได้แก่
– การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอ (Exchange of Information on Request : EOIR) โดยปัจจุบันประเทศไทยเข้ารับการประเมิน (Peer Review) ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2565 เรียบร้อยแล้ว
– การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติ (Automatic Exchange of Information :AEOI) โดยข้อมูลที่จะแลกเปลี่ยนแบบอัตโนมัติจะถูกเรียกว่า Common Reporting Standard (CRS)
เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ประเทศไทยจึงได้เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี (Convention on Mutual Administrative Assistance in Tax Matters) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 และต่อมาได้ทำความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเพื่อให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพในทางปฏิบัติอีก 2 ฉบับดังนี้
ภาคีความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ (Multilateral Competent Authority Agreement on Automatic Exchange of Information: MCAA CRS) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565
ภาคีความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลรายประเทศแบบอัตโนมัติ (Multilateral Competent Authority Agreement on the Exchange of Country-by-Country Reports: MCAA CbCR) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2565
ต่อมากระทรวงการคลังและกรมสรรพากรจึงผลักดันให้เกิดกฎหมายอนุวัติการนำพันธกรณีทั้งหลายในความตกลงมาบัญญัติเป็นกฎหมายภายในดังนี้ (โปรดดู https://www.rd.go.th/63929.html)
(1) พระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ.2566
(2) กฎกระทรวงกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566
(3) ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดรายชื่อรัฐหรือภาคีซึ่งเป็นคู่สัญญาตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ
(4) ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงานตามพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566
(5) ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดผู้ที่ไม่ต้องถูกรายงานตามพระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566
(6) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และรูปแบบการส่งข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ ตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ
นอกจากการใช้กฎหมายอนุวัติการดังกล่าวแล้ว กรมสรรพากรเองยังใช้อำนาจตามมาตรา 10 ตรี และมาตรา 17 วรรคสาม (2) แห่งประมวลรัษฎากร ออกกฎหมายลำดับรองมาปรับใช้เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีเงินได้ระหว่างประเทศ ได้แก่
(1) ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา 10 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564
(2) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 408) เรื่อง กำหนดให้ผู้ยื่นรายการแจ้งข้อความตามรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Reports) ลงวันที่ 30 กันยายน 2564 และฉบับที่ 419 ลงวันที่ 12 มกราคม 2565